1. ทำไมต้อง Phrozen Shuffle 4K ?
โฟรเซนเป็นแบรนด์จากไต้หวัน ที่เริ่มต้นจาก Kickstarter ในชื่อรุ่น Make ซึ่งนำเสนอ LCD 3D Printer และเทคโนโลยี UV LED Array เจ้าแรกๆในท้องตลาด (อ่านเทคโนโลยีเครื่องปริ้นเรซิน) เน้นที่คุณภาพชิ้นส่วนตามมาตรฐานการผลิตของไต้หวัน จนปัจจุบันกลายเป็น Phrozen Shuffle 4K ที่ใช้จอความละเอียด 3840 x 2160 ยิงไปที่พื้นที่การพิมพ์ 12×6.8 cm ทำให้ได้เม็ดพิกเซลความละเอียดสูงถึง 31 ไมครอน (XY) ซึ่งในทางทฤษฎีก็น่าจะพิมพ์ได้เล็กสุดประมาณนั้น แต่การใช้งานจริงก็มีอีกหลากหลายปัจจัย ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยหลายคนว่าจอ 2K เทียบกับ 4K แล้วจะเป็นอย่างไร ?
ปัจจุบัน Phrozen 4K จึงเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แบบเรซินที่ให้ความละเอียดสูงมากๆตัวหนึ่ง ยิ่งเมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่า นอกจากกลุ่มคอมมูนิตี้ของบริษัทเองก็แข็งแกร่ง มีผู้ใช้จำนวนมากคอยรายงานปัญหา และตอบคำถามกับผู้ใช้งานทั่วๆไป โดยมีผู้ดูแลจากบริษัทมาดูอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าซื้อมาแล้วมีบริการหลังการขาย ข้อมูลสนับสนุนแน่นอน ทางซิงค์ อินโนเวชั่น เองก็เป็นตัวแทนจำหน่าย ดังนั้นตรงจุดนี้ไว้ใจได้
รีวิวนี้เน้นไปที่การใช้งาน ภาพรวม วิธีสร้างไฟล์สำหรับปริ้น และวัดผลเทียบกับจอ 2K
รายละเอียดเชิงเทคนิค
- 4K Resolution 3840×2160 LCD จอ 5 นิ้ว
- Print Volume 120mm x 68mm x 200mm
- 31 um XY resolution
- 10 um Z resolution (แนะนำ 30-50 ไมครอน)
- หน้าจอสัมผัสสี IPS ขนาด 5 นิ้ว
- Materials open source
- ParaLED 2.0 50W 405 nm เลนส์ดีขึ้น ให้แสงสม่ำเสมอ 90%
- รองรับการเชื่อมต่อ Wifi USB Ethernet Micro sd card
- ระบบปฏิบัติการ Phrozen OS ซึ่งจะใช้ในทุกเครื่องของ Phrozen ในอนาคต มีพื้นฐานมาจาก NanoDLP
- Linear rail จากไต้หวัน โครงสร้างที่เป็นอลูมิเนียม CNC มาทั้งหมด
- โปรแกรม PZ Slice ปัจจุบันเวอร์ชั่น 1.0.4 หรือใครถนัด Chitubox ก็ใช้ได้
- น้ำหนักเครื่อง 7 kg
- อ่าน Feature หลัก
ด้านสเปคและงานประกอบถือว่าไม่น้อยหน้าแบรนด์จากยุโรปและอเมริกาเลย โดยปกติไต้หวันเองก็ถือว่าเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพอยู่แล้ว ถ้ามีข้อตำหนิก็คงเป็นเรื่องกล่อง หรือบรรจุภัณฑ์ที่ดูไม่ต่างจากเครื่องจีน รวมทั้งคู่มือก็ต้องไปโหลด pdf เอาเอง ซึ่งด้อยกว่าหลายๆบริษัทของจีนในปัจจุบัน

2. รายละเอียดของตัว Shuffle 4K
สำหรับเครื่อง LCD 3D Printer ราคาถูก จนไปถึงหลักแสนต้นๆ หน้าตาก็จะคล้ายกันไปหมด คือมีหน้าจอขนาดเล็ก-ใหญ่ด้านหน้า รอบๆเครื่องมีเหล็กพับหุ้มโครงสร้างอีกที ซึ่งบางยี่ห้อก็จะต่อสูงขึ้นไปด้านบน เพื่อรองรับฝาเปิดด้านหน้า บางยี่ห้อก็โล่งๆ แล้วใช้ฝาอะคริลิกปิดทั้งหมด เช่น Elegoo Mars (อ่านรีวิว Elegoo Mars) ซึ่งแบบมีเหล็กหุ้มทั้งหมดก็ดีตรงที่ดูแน่นหนา ใช้งานง่ายกว่า ไม่ต้องยกฝาเข้า-ออก แต่ความสวยงามก็จะสู้แบบฝาปิดครอบทั้งหมดไม่ได้ จะดูตันๆเป็นเครื่องจักรมากกว่า


ด้านหลังจะมีที่เสียบสาย Power และพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ซึ่งก็เป็นมาตรฐานของ Raspberri Pi คือ USB Ethernet (Lan) และ Micro SD Card ที่บรรจุระบบปฏิบัติการ Phrozen OS ไว้ข้างใน รวมทั้งมีพัดลมขนาดใหญ่และเสียงดังมาก คอยระบายความร้อนให้แผงควบคุมส่วนนี้ ส่วน wifi ผู้ผลิตให้มาเป็น USB Dongle เล็กๆเสียบแล้วใช้งานได้เลย จุดนี้น่าจะมาจากต้องการลดภาระ wifi ของตัวบอร์ด PI เลยเปลี่ยนมาใช้ภายนอกแทน ที่ขาตั้งเครื่องทั้ง 4 มุม มีพลาสติก PU กลึงมาอย่างดี ทำให้พื้นไม่เป็นรอย ยึดติดพื้นดีพอสมควร จุดนี้ขาดตรงที่ปรับระดับมา เหมือนหลายๆรุ่นที่ปรับขึ้น-ลง ได้เล็กน้อย


บานพับสำหรับเปิดฝาเป็นแบบธรรมดา ไม่ได้มีโช๊คเพื่อล๊อกทุกระดับการสวิงขึ้น ดังนั้นจึงทำได้แค่ปิด-เปิดสุดเท่านั้น ด้านในของตัวเครื่องสำหรับคนที่เคยชินกับเครื่องจากจีนที่ราคาเริ่มต้นก็ต้องรู้สึกถึงความต่าง ที่ไม่ได้บอกผ่านตัวเลข คือชิ้นส่วนต่างๆ CNC ลบคม ลบมุมมาค่อนข้างดี รายละเอียดของโครงสร้างภายในมีดังนี้
- Z-axis ใช้ linear rail จากไต้หวัน ใครโชคดีจะได้ท่อนที่มี label ติดว่า made in Taiwan ไปด้วย
- Lead screw จากไต้หวันเช่นเดียวกัน โดยใช้ nut plastic ทำให้เงียบขณะทำงาน ไม่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น (dry lubricant) หุ้มด้วยปลอกทองเหลืองอีกที
- ฐานพิมพ์ชิ้นงาน (build plate) ทำจาก อลูมิเนียม CNC ปรับตั้งระนาบด้วยกันขันน๊อต 4 ตัว แบบทั่วๆไป
- ถาดใส่เรซิน (VAT) เหมือนเครื่องทั่วๆไป ทำจากอลูมิเนียม ด้านล่างเป็น FEP Film คุณภาพดี ตัวถาดล๊อกด้วยนัท 2 ตัว


3. เปิดเครื่องครั้งแรก
หลังจากเสียบสาย Power เปิดเครื่องครั้งแรก จะรอนาน 3-5 นาที เพื่อติดตั้ง Phrozen OS ตามหน้าจอดังภาพ ส่วนครั้งต่อไปก็ใช้เวลาโหลดไม่นานแล้ว ตัวจอ IPS มองด้านข้างก็ยังชัด การสัมผัส กดปุ่มดีกว่าจอแบบเก่า แต่ก็ไม่ได้ลื่นมากเหมือน ios พอเข้าสู่หน้าจอหลักจะมีเมนูอยู่ 6 หัวข้อ


3.1 PLATES สำหรับสั่งงานพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ที่อัพมาจาก wifi หรือไฟล์จาก USB Flash drive โดยนามกสุลที่รองรับคือ .stl .obj และ .phz
3.2 PROFILE สำหรับการแก้ไขเรซินโปรไฟล์ภายในเครื่อง สำหรับคนที่โยนไฟล์ stl มา แล้วให้เครื่อง slice และสั่งพิมพ์ หากทำไฟล์มาจากโปรแกรมข้างนอกแล้วก็ไม่จำเป็น ซึ่งจะไปบอกละเอียดอีกทีที่หัวข้อ 4 ซึ่งเราสามารถแก้ข้อมูลหน้าเครื่องได้เลย


3.3 SETUP สำหรับปิดเครื่อง รีสตาร์ท ดูสถานะของเครื่อง รวมถึงอัพเดด Firmware สามารถทำผ่านเมนูนี้ได้เลน
3.4 Z-Axis สำหรับการควบคุมถาดพิมพ์ให้ขึ้นลง รวมถึงการตั้งฐานด้วย (Build plate calibration)


3.5 LCD-TEST ทดสอบการฉายภาพบนจอ รวมถึงใช้สำหรับทำความสะอาดเรซินได้ (ใช้การฉายภาพทั้งจอ คำสั่งที่ 2
3.6 WIFI เมนูสุดท้ายสำหรับการเชื่อมต่อ wifi ตอนนี้มีปัญหาคือยังไม่สามารถใส่อักขระพิเศษในช่องพิมพ์รหัสได้ ดังนั้นระบบเน็ทเวิร์คใครที่ใช้ตัวอักษรพวกนี้อยู่คงต้องเปลี่ยน หรือรออัพเดดครั้งหน้าครับ ผู้พัฒนาทราบปัญหาแล้ว


สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นพิมพ์งานแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งฐานพิมพ์ให้ได้ระนาบ โดยไปที่เมนู Z-AXIS หลังจากนั้นคลายน๊อตทั้ง 4 ตัว แล้วทำตามคำแนะนำ หรือดูจากคลิบด้านล่าง ใช้ด้วยกันได้หมดทุกรุ่น
4. การเตรียมไฟล์เพื่อสั่งพิมพ์
4.1 ใช้โปรแกรม PZSlice
สามารถดาว์นโหลดได้ที่ลิ้งนี้ (Phrozen Support Page) ซึ่งมีโปรไฟล์ของเรซินของบริษัทมาให้หมดแล้ว ส่วนของซิงค์ อินโนเวชั่น กำลังอัพเดดอยู่ ดังนั้นใครที่คุ้นเคยกับเครื่องปริ้นเรซินอยู่แล้ว ก็สร้าง Support ได้ตามประสบการณ์ ส่วนรายละเอียดอื่นๆของโปรแกรมก็ไม่ได้แตกต่างกันโปรแกรมอื่น หรือมีฟังก์ชั่นพิเศษมาก ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนามากกว่า
หลังจากแต่ง Support อะไรเรียบร้อยคลิ๊กที่คำสั่ง Slice โปรแกรมก็จะสร้างไฟล์นามสกุล .phz มา ซึ่งสามารถเซพลง Flash drive เพื่อสั่งพิมพ์หน้าเครื่องจากจอ ips หรือโยนไฟล์ผ่าน wifi จาก Phrozen OS ก็ได้
4.2 ใช้ Phrozen OS
วิธีการนี้ใครที่คุ้ยเคยกับโปรแกรม Nanodlp คงทราบดี โดยเข้าตัว OS ผ่าน Web Browser พิมพ์ IP Address ที่เครื่องแจ้งอยู่ข้างหน้า ไปที่คำสั่ง Plate เลือกโปรไฟล์เรซิน อัพโหลดไฟล์ stl หรือ obj (ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว) ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเครื่องไป ซึ่งผู้เขียนแนะนำทำไฟล์ phz ไปเองดีกว่า เพราะเครื่อง PC Laptop ทำงานดีกว่าผ่านบอร์ดของเครื่องแน่นอน เหมือน nanodlp ที่เตรียมไฟล์ที่ slice แล้วไปให้ เร็วกว่าเยอะ
4.3 ใช้ Chitubox
ปัจจุบันยังไม่มี Profile ของเครื่องดังนั้นต้องรอการอัพเดด หรือใส่ข้อมูลเองตามภาพ ใช้งาน Slice ตามปกติเป็นไฟล์ .zip เพื่อไปใช้งานต่อเหมือนจากโปรแกรม PZslice (มีรายงานว่าสามารถ rename เป็น .phz ได้เลย เครื่องอ่านได้เหมือนกัน)

หลังจากได้ไฟล์เพื่อสั่งพิมพ์ ก็จัดการเทเรซินให้พอกับการใช้งาน ไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของถาดเรซิน โดยระหว่างการทำงาน ตัวหน้าจอก็จะแสดงสถานะการพิมพ์ให้เห็น หรือใครที่ใช้ wifi ก็พิมพ์ IP Address เข้ามาดูได้เช่นกัน หากใครใช้ PZSlicer ทำไฟล์มาตรงรายละเอียด PROFILE ก็จะขึ้นเป็น “run G-CODE” เพื่อบอกว่าไม่ได้อ่านโปไฟล์จากในเครื่องอยู่

ความเร็วในการพิมพ์ก็ปกติของเครื่องแบบ LCD จะมีข้อดีหน่อยก็คือเสียงค่อนข้างเงียบ จากตัวระบบแกน Z ที่เหนือกว่าเครื่องจากจีน
5. ผลการพิมพ์ของ Shuffle 4K
การวัดผลเรื่องคุณภาพ เป็นการวัดจากสายตาคน ดังนั้นในบางครั้งจึงได้ผลหรือความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยเราจับเอา Shuffle 4K มาเทียบกับ Elegoo Mars 2K เทียบกันเป็นจุดๆ ไป โดยให้ผู้อ่านได้ตัดสินใจเอง ทั้งนี้จุดที่พิมพ์เสียก็ไม่ต้องเปรียบเทียบนะครับ ทั้ง 2 เครื่องนี้ ให้คนที่ไม่เคยใช้งาน create support auto สั่งพิมพ์ โดยไม่ได้แนะนำอะไรเลย
ผลที่เห็น สรุปสั้นๆว่า ถ้ามองผ่านตาเปล่า ไม่เห็นความต่างมากนัก ถึงจะมีบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นจุดสำคัญจนยอมรับงานจาก 2K ไม่ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องไปทำสีต่อ มีรองพื้น ขัด ทาสีทับ


งานจิวเวรีเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ 4K สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด เนื่องจากรีดการใช้งานมาได้เต็มประสิทธิภาพ มากกว่าพวกฟิกเกอร์ที่ต้องไปทำสีต่อ ด้วยขั้นตอนหลังการปริ้นต้องไปหล่อเลย ดังนั้น ร่องรอย ความหยาบผิว ยิ่งน้อย ยิ่งดี




สรุปการใช้งาน
- มาตรฐานการผลิตไต้หวัน โครงสร้างแข็งแรง
- ใช้งานง่าย หลากหลาย รองรับการเชื่อมต่อตามต้องการ
- จอใหญ่ ใช้งานง่ายขึ้นเยอะ
- ผลงานพิมพ์อยู่ในระดับดี เมื่อเปรียบเทียบกับราคา
- Open source materials
- PZSlicer มีโปรไฟล์เรซินมาครบไม่ต้องทดลอง
- เรซินชนิดอื่นๆ มีผู้ใช้ที่ให้ข้อมูลจำนวนมาก
- พร้อมใช้งานภายใน 5 นาที ต้อให้ไม่เคยใช้มาก่อน
- เหมาะกับคนที่ต้องการความละเอียดขั้นสุดในงบประมาณจำกัด
- ไม่เหมาะกับคนใช้งานกับงานโมเดลขนาดใหญ่
- ไม่เหมาะกับคนที่งบประมาณจำกัด เพราะอายุการใช้งาน LCD 4K อยู่ที่ราวๆ 500 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น
- โปรแกรม PZSlicer ต้องพัฒนาต่อด้านการทำ Support และส่งพิมพ์ผ่าน Wifi เลยในตัว
- ยังไม่มีระบบ calibration เวลาฉายแสงในตัว
- ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการเครื่องซึ่งปริ้นได้สมบูรณ์ 100%