PC Filament (Polycarbonate) คือวัสดุอะไร
PC Filament ชื่อเต็มคือเส้นพลาสติกพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) เป็นวัสดุที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 1989 ในแลบวิจัยประเทศเยอรมัน แต่กว่าจะมาผลิตเพื่อขายจริงจังก็ผ่านมาเกือบ 30 ปี ภายใต้บริษัท Bayer (ไบเออร์) หลังจากนั้นก็มีการจดสิทธิบัตรมากมายทั้ง General Electric (GE) Sabic ปัจจุบัน PC มีการใช้งานหลากหลายมาก ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง หรือการแพทย์ เนื่องจากสมบัติเดิมๆ ที่มีความแข็งแรงสูง เหนียว ทนกรด-ด่าง สารเคมี รวมไปถึงมีการพัฒนาสูตร PC ใหม่ๆมากมาย ที่ไม่น่าเชื่อว่า เช่น โคมไฟโปรเจคเตอร์ของรถยนต์ หรือแผ่นเก็บข้อมูล (Compact Discs, CD) ที่มีความใสเหมือนกระจก

(ข้อมูลปี 2013 จาก https://www.techmoblog.com/polycarbonate-samsung-galaxy-s4/)

หลังคา PC

แผ่น CD
PC filament สำหรับเครื่อง 3D Printer
PC Filament ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ปัจจุบัน จะเป็นเกรดมาตรฐาน มีสมบัติความทนทานการดัดงอ และทนร้อนมากกว่า ABS บางผู้ผลิตมีการพัฒนาสูตรขึ้นใหม่ ให้มีการหดตัวลดลง (low warp) หรืองอได้มากขึ้น เช่น Polymaker จะมี 2 เกรดคือ
♦ Polymaker PC Plus ตัวนี้เหมือนเกรดทั่วไปที่ใช้งาน
♦ Polymaker PC Max พัฒนาเพื่อต้านทานการดัด การกระแทกให้มากขึ้น เหมาะกับงานทางวิศวกรรม



จากข้อมูลในภาพรวม PC จะมีความแข็งแรงมากกว่า ABS อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากมีราคาสูงกว่า โดยในไทยเส้นนำเข้าจากจีนจะอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่หากเป็นเส้นจากยี่ห้อดังๆ จะมีราคาสูงกว่า 2,000 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ ABS สามารถหาซื้อในราคาเริ่มต้นเพียง 600 บาท/กิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนเลือกใช้มากกว่า
การขึ้นรูปด้วยเครื่อง 3D Printer
PC เป็นวัสดุหนึ่งที่ไม่เหมาะกับการใช้เครื่อง 3D Printer ระดับเริ่มต้น เนื่องจากกินไฟมากทั้งหัวฉีดและฐานพิมพ์ รวมทั้งหากเป็นระบบตู้ปิดจะเกิดการสะสมของความร้อนสูงมาก หากไม่มีระบบที่ปลอดภัย หรือชิ้นส่วนไม่มีคุณภาพ จะทำให้เครื่องเสียหายได้อย่างรวดเร็ว
อุณหภูมิหัวฉีดที่ใช้ : 250-310 ºC
อุณหภูมิฐาน : 100-130 ºC (ของ Polymaker แนะนำใช้ 80 ºC ได้ แต่ลองแล้วพบปัญหา Warp)
ความเร็วในการพิมพ์: 40-70 mm/s
Retraction: 0.5-1 mm สำหรับหัวฉีด 0.4 mm
ความเร็วพัดลม: ปิด
ฐานพิมพ์ที่เหมาะสม : แผ่น PC board ที่ใช้ทำหลังคา/กระจกทากาว 3D หรือสเปรย์เซ็ทผม/ กาว ABS
Raft : ควรเปิดการใช้งาน
ควรเป็นเครื่องที่มีฝาปิดคุมอุณหภูมิ

ปัญหาการ Warp (Heatbed ต่ำเกิน/เครื่องไม่เป็นระบบปิด)

Heatbed 110 ºC ปริ้นได้สมบูณ์
แหล่งข้อมูลที่ช่วยในการตั้งค่าการพิมพ์ PC
การตั้งค่าในโปรแกรม Simplify 3D
PC แบบอื่นๆ
สำหรับ PC ในบ้านเรานั้น จะหาเส้น PC ได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นจีน ที่มีค่าการหดตัวสูง ขึ้นรูปได้ยากกว่าเส้นที่พัฒนามาสำหรับเครื่อง 3D Printer โดยเฉพาะ ดังนั้นจากประสบการณ์ที่ใช้มา Polymaker เป็นบริษัทแรกๆที่พัฒนาร่วมกับผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PC ที่ชื่อ Convestro (มีตั้งอยู่ในไทยด้วย) พัฒนาเส้นโดยเฉพาะ ดังนั้นจะขึ้นรูปได้ง่ายกว่าเจ้าอื่นๆ อีกแบบหนึ่งคือการผสม ABS เข้าไปใน PC ปกติ เป็น PC/ABS ทำให้ชิ้นงานที่ได้มีความเหนียว รับแรงดัดได้มากขึ้น รวมทั้งทำสีหรือขัดผิวได้ง่าย เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับใครที่ต้องการความแข็งแรง จะมีผู้ผลิตฝั่งอเมริิกาที่เติมเส้นใยคาร์บอนเข้าไปในเส้น PC ทำให้ความแข็งแรง ทนแรงดัด สูงมากๆ รวมทั้งทนอุณหภูมิได้เกิน 130 ºC สำหรับการใช้งานในระยะยาว ใครสนใจตามลิ้งนี้ไปได้เลย 3DXTECH
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานเครื่อง 3D Printer รู้จักเส้นพลาสติก PC และประสบความสำเร็จในการพิมพ์มากยิ่งขึ้น


