
3D Printer หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คนส่วนใหญ่คงไม่คุ้น แต่ถ้าเป็นคำว่า “ ปริ้น ” หรือ “ พิมพ์ ” เราคงคุ้นเคยจนเป็นเรื่องปกติในชีวิต เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการ แปลงข้อมูลที่เป็นดิจิตอล เช่น ตัวอักษร หรือภาพถ่าย ที่เราทำในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เช่น Microsoft Word Excel หรือ Power Point ออกมาเป็นภาพบนกระดาษที่เราสามารถจับต้องได้ ยกตัวอย่าง การพิมพ์เอกสารโดยเครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser printer) พิมพ์ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลโดยเครื่องพิมพ์น้ำหมึก (Inkjet printer) หรือพิมพ์ใบเสร็จจากเครื่องพิมพ์หัวเข็ม (Dot matrix)
การทำงานของเครื่อง 3D Printer
ในขณะที่การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ก็อาศัยหลักการเดียวกัน คือแปลงข้อมูลดิจิตอลที่เป็น แบบจำลอง 3 มิติ หั่นออกมาเป็น ข้อมูล 2 มิติ หลายๆชั้น ขั้นตอนนี้เราเรียกว่า การแบ่งชั้น (Slicing) จากนั้นจึงส่งข้อมูลไปยังเครื่องพิมพ์ ให้เริ่มพิมพ์ชิ้นงานทีละชั้นจนได้แบบจำลองสามมิติตามที่ได้ออกแบบไว้ซึ่ง การพิมพ์ลักษณะนี้เราสามารถเรียกได้อีกอย่างว่าการผลิตแบบเติมเนื้อ (Additive manufacturing, AM)

ที่มา 3D Printer เครื่องแรกของโลก
3D Printer หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องแรกเกิดขึ้นจากการประดิษฐ์ของ คุณปู่ Charles W. Hull หรือที่คนส่วนใหญ่ เรียกกันว่า Chuck Hull ผู้ก่อตั้งบริษัท 3D System ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน คุณปู่ได้ใช้หลักการฉายรังสียูวี (UV) เพื่อทำให้เรซิน (Resin) เกิดการแข็งตัว ซึ่งได้จดสิทธิบัตรในปี ค.ศ.1984 โดยใช้ชื่อ “Apparatus for production of three-dimensional objects by stereolithography” (US Patent 4575330A) เทคโนโลยีนี้ได้มีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยเรียกกันสั้นๆว่า SLA 3D printing

เทคโนโลยีของเครื่อง 3D Printer แบบ SLA มีข้อดี คือ ได้ผิวของชิ้นงานที่มีความละเอียดสูง ไม่ต้องตัดแต่งมาก แต่ข้อจำกัดของเครื่องประเภทนี้โดยเฉพาะกับผู้ใช้ตามบ้าน คือ ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญสูงในการปรับค่าตัวแปรในการผลิต (Processing parameter) ให้เหมาะสม รวมไปถึงข้อจำกัดด้านวัสดุที่มีให้เลือกใช้น้อยกว่ากระบวนการอื่น