ในยุคปัจจุบันคงไม่มีใครที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าพลาสติกนั้นย่อยสลายยาก ใช้เวลานาน ทำให้เกิดมลภาวะและขยะปริมาณมาก ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นจึงมีหลายองค์กรที่ทำการวิจัยและพัฒนาพลาสติกให้เป็น Bio Plastic โดยใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ หรือย่อยสลายได้ง่าย มาผสมกับพลาสติกเดิม เพื่อทำหน้าที่เป็น Bio-Based ให้กับพลาสติกนั้นๆ
ในปี 2020 เป็นต้นไปในประเทศไทยเองก็มีการรณรงค์งดรับถุงในร้านสะดวกซื้อและห้างร้านจำนวนมาก โดยเปลี่ยนไปใช้ถุงผ้าแทน ก็สามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อีกทาง แต่หลายที่ก็ไปใช้ถุงผ้าพลาสติกที่อันตรายไม่แพ้กันอยู่ดี ดังนั้นพลาสติกกลุ่ม Bio จึงเป็นทางเลือกที่ดีสุดในอนาคต บทความนี้จะพาไปแนะนำวัสดุพลาสติกในปัจจุบันที่สามารถย่อยสลายได้เอง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน

Bio-Base คือวัสดุอะไร ?
วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี อ้อย มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มันเทศ ถั่ว เป็นต้น มักถูกจัดให้เป็น Bio-based สำหรับใช้ในการผลิตเป็น Bio Plastic ซึ่งพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นวัสดุชีวภาพที่บางส่วนหรือทั้งหมดถูกผลิตขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช ต้นไม้ หรือสัตว์ ทำให้สามารถเกิดการย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ (biodegradable) และกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100% แต่บางชนิดจะต้องใช้วิธีการและขั้นตอนการย่อยสลายอย่างถูกต้องกับพลาสติกชีวภาพเหล่านี้จึงจะย่อยสลายได้ถึงแม้ว่าจะมี Bio-Based ก็ตาม ทำให้ช่วยลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะตกค้าง ทำให้พลาสติกชีวภาพเป็นแนวทางการพัฒนาวัสดุสำหรับการใช้งานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
1. PLA
2. PETG
พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate) หรือมีชื่อย่อว่า PET และ PETG เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เราคุ้นชินมากที่สุด นิยมผลิตเป็นขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม หรือภาชนะบรรจุอาหารต่างๆ เพราะมีน้ำหนักเบา แข็งแรง ใช้งานได้หลากหลาย และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยทั่วไป PET จะถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่น และพอลิเมอไรเซชั่นแบบควบแน่นจากวัสดุตั้งต้นที่เป็นผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลิตจากวัตถุดิบหลัก ได้แก่ monoethylene glycol (MEG) ร้อยละ 30 และ purified terephthalic acid (PTA) ร้อยละ 70 แต่ในปัจจุบันวัสดุตั้งต้นเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีนวัตกรรม Bio Plastic ซึ่งผลิตจากพืชเป็นวัสดุหมุนเวียน นำมาใช้ทดแทนวัตถุดิบจากปิโตรเลียม เพราะวัตถุดิบ Bio-Based สามารถผลิตได้จากแอลกอฮอล์ ซึ่งได้จากกระบวนการหมักของน้ำตาล จากผลผลิตจากการเกษตร เช่น อ้อย กากน้ำตาล ฟางข้าว เป็นต้น และเมื่อผ่านกระบวนการผลิตจะทำให้ได้เป็น Bio-based polyethylene terephthalate (Bio-PET) จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ในปัจจุบัน PETG มีบาทสำคัญในทางอุตสากรรมต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีเครื่อง 3D Printer ที่ใช้วัสดุแบบเส้นกับระบบ FDM ซึ่งในเชิงพาณิชย์ได้มีออกจำหน่ายหลายแบรนด์ อย่างเช่น BioPETG™ Eco-Friendly PETG Filament 3D Printlife
3. PBS
พอลิบิวทิลีนซัคซิเนต (Polybutylene succinate) มีชื่อย่อว่า PBS เป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และยังเป็นวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ทำวัสดุทางการแพทย์ โดย PBS เป็นพอลิเอสเทอร์ที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยปฏิกิริยาการควบแน่น (condensation polymerization) ระหว่างกรดซัคซินิคและ 1,4-บิวเทนไดออล ซึ่งมอนอเมอร์ทั้งสองชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตขึ้นได้จากทั้งแหล่งปิโตรเคมี หรืออาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติก็ได้ แต่นิยมผลิตมาจากด้วยการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบตั้งต้น สำหรับผลิตเป็น Bio Plastic
ปัจจุบันพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดได้รับความสนใจและกําลังพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นก็คือ PBS ซึ่งวัสดุชนิดนี้จะมีลักษณะขุ่น สามารถนํามาขึ้นรูปได้ง่าย และหลากหลายกระบวนการ โดยเฉพาะการฉีดขึ้นนรูป และการเป่าขึ้นรูปฟิล์ม ซึ่ง PBS สามารถทนความร้อนได้ตั้งแต่ 80 – 95 องศาเซลเซียส และมีความยืดหยุ่นที่ดี ที่สำคัญยังสามารถนําไปผสมกับ PLA เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หลายประเภทได้ เช่น ฟิล์มทางการเกษตร วัสดุทางวิศวกรรม วัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น อีกทั้งกำลังขยายไปยังอุตสาหกรรมทางบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (disposal items)
ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตเส้นในการใช้กับ 3D Printer ได้ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ใช้งานจริงกัน
4. PVC
พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride) ส่วนใหญ่แล้วโดยทั่วไปจะเคยได้ยินในชื่อ PVC และที่ใช้ในทุกบ้านก็คือ ท่อน้ำประปาสีฟ้า นั่นเอง โดยทั่วไปแล้ว PVC มีความนิยมใช้ในกลุ่มงานอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์น้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจาก PVC ประกอบไปด้วยสารเคมีปรุงแต่ง จึงทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีในบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย แต่ก็มีบรรจุภัณฑ์บางชนิดผลิตจาก PVC สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่มีสารเคมีตกค้าง เช่น ฟิล์มยืดสำหรับห่อเนื้อสัตว์และผลไม้สด ถาดบรรจุอาหารแห้ง ถาดหรือกล่องบรรจุอาหารสด ขวดบรรจุน้ำมันพืช เป็นต้น
พลาสติกชีวภาพพอลิไวนิลคลอไรด์ (Bio-Polyvinyl chloride) หรือ Bio-PVC เป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากสารชีวภาพบางส่วน (Partially bio-based) และเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel-based) จัดอยู่ในกลุ่มชนิดย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพ ซึ่งเป็นพลาสติกชนิด Thermoplastic มีส่วนประกอบหลักคือ คลอรีน 57% ซึ่งเป็นผลผลิตจากเกลืออุตสาหกรรม และอีก 43% มาจากคาร์บอนซึ่งสกัดมาจากน้ำมันและก๊าซ เมื่อเทียบปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลาสติกแต่ละชนิด พีวีซีเป็นพลาสติกที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าพลาสติกประเภท PE, PP, PET และ PS พีวีซียังมีคุณสมบัติทนไฟและดับไฟได้จากคุณสมบัติของสารประกอบคลอรีน
สำหรับใครที่อยากลองใช้เส้นวัสดุ PVC ในการพิมพ์ 3 มิติด้วยเครื่อง 3D Printer ก็ไปหาซื้อกันได้ เพราะมีออกสู่ตลาดเป็นเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว
5. PCL
พอลิคาโปรแลคโตน (Polycaprolactone) หรือ PCL เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่สามารถเข้ากับวัสดุอื่นๆ ได้ง่าย โดย PCL จัดเป็นเป็นเทอร์โมพลาสติกชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มพอลิเอสเทอร์ที่มีสายโซ่ตรง ที่สังเคราะห์มาจากน้ำมันดิบ ผ่านกระบวนการทางเคมี และผ่านปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชั่นแบบควบแน่น สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Polymer) มีโครงสร้างคล้าย PLA และ PGA แต่การสลายตัวช้ากว่า ซึ่งมีการนำมาใช้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เพราะมีสมบัติเชิงกลและการเข้ากันได้กับเซลล์เป็นอย่างดี และผลิตจากวัตถุดิบที่สร้างขึ้นใหม่ได้ ซึ่งวัสดุในกลุ่มนี้เป็นทางเลือกใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในทางด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินั้นไม่ได้มีความก้าวหน้า แต่เป็นวัสดุที่ใช้ต่างหากที่มีความก้าวหน้าไปไกล ซึ่ง PCL เองก็ได้รับการผลิตให้ออกมาในรูปแบบเส้น เพื่อใช้กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
6. PHAs
พอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต (Polyhydroxylakanoates) เรียกสั้นว่า PHAs เป็นสารพอลิเมอร์ตั้งต้นที่สามารถนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต PHAs จากการใช้วัตถุดิบจำพวกน้ำมันพืช แป้ง หรือน้ำตาลที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นใหม่ได้ (renewable resource) ซึ่งได้แก่ พืชที่มีแป้งหรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น โดยมีกระบวนการผลิตเริ่มต้นจากการบดหรือโม่พืชนั้นให้ละเอียดเป็นแป้ง จากนั้นทำการย่อยแป้งให้ได้เป็นน้ำตาล และนำไปหมัก (fermentation) เป็นสารประกอบพอลิเอสเทอร์ ซึ่งผลิตได้จากแบคทีเรียหลายชนิดทั้งแกรมบวกและแกรมลบ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ โดยอาศัยกระบวนการและเอนไซม์จากจุลินทรีย์และมีคุณสมบัติคล้ายพลาสติกสังเคราะห์ ด้วยจุลินทรีย์ชนิดพิเศษ เชื้อที่ได้รับความนิยมใช้ในการผลิตปัจจุบัน ได้แก่ Cupriavidus necator Pseudomonas sp. และ Eschericia Coli ซึ่งกินน้ำตาลเป็นอาหาร และสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลภายในตัวจุลินทรีย์เองเป็น PHAs ซึ่งสามารถแยกออกมาได้โดยการกะเทาะแยกเปลือกนอกหุ้มจุลินทรีย์ออก เนื่องจาก PHAs มีช่วงอุณหภูมิในการหลอมเหลว (Tm) ที่กว้างตั้งแต่ 50 – 180 °C
นอกจากนี้การใช้เชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงยังสามารถผลิต PHAs ได้ในปริมาณ 50 – 88% ต่อน้ำหนักเซลล์แห้ง สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็นการผลิตจากเชื้อที่ทำพันธุวิศวกรรม ถึงแม้ว่า การผลิตดังกล่าวยังมีปัญหาในเรื่องความคงที่ของยีน การควบคุมปริมาณผลผลิตและราคาของ PHAs ที่ได้ จึงทำให้มีคุณสมบัติในการนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกได้หลากหลาย เช่น พลาสติกที่ใช้ในเกษตรกรรมที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือวัสดุชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น
7. PHB
พอลิไฮดรอกซีบิวทีเรต (Polyhydroxybutyrate) หรือ PHB ซึ่งเมื่อย่อยสลายแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ แบคทีเรียและราที่มีอยู่ทั่วไปจะย่อยวัสดุชนิดนี้จนหมดสิ้นไปในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น
PHB ถูกค้นพบโดย Maurice Lemoigne นักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส เกิดจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ หรือผลิตจากจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า Alcaligenes eutrophus โดยใช้แหล่งวัตถุดิบจากน้ำตาลกลูโคสหรือแป้ง มาเป็นแหล่งคาร์บอนให้กับจุลินทรีย์ และสะสมสารไว้ในตัว เพื่อเปลี่ยนเป็น acetyle CoA ซึ่งสารนี้จะเป็นมอนอเมอร์สำหรับใช้ในการผลิตเป็น PHB
เมื่อ PHB พลาสติกนี้สลายตัว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ มีปริมาณใกล้เคียงกับที่พืชใช้เพื่อผลิตเป็นกลูโคส ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แก่บรรยาศของโลก ซึ่งการผลิตพลาสติกชีวภาพขึ้นมานั้นเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการในการใช้พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่งผลให้ปัจจุบันได้ใช้พลาสติกชนิดใหม่นี้ในรูปของภาชนะต่างๆ มากขึ้น เช่น ขวดแชมพูสระผม บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น


8. PC
พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) มีตัวย่อว่า PC เป็นเทอร์โมพลาสติกผสมแป้ง (Thermoplastic starch) เป็นพลาสติกชีวฐาน (Bio-based plastic) Bio-PC เป็นพอลิเมอร์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จัดอยู่ในกลุ่มที่มาจากธรรมชาติโดยตรง ไม่เป็นพิษ ย่อยสลายได้โดยการฝังกลบ โดยการกระทำของจุลินทรีย์ และหาใหม่ทดแทนได้
ที่สำคัญคือยังมีความแข็งแรงที่ใกล้เคียง และมากกว่าในบางผู้ผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับ PC ปกติ แบรนด์ที่เป็นที่นิยมคือ มิตซูบิชิเคมีคอล ในชื่อทางการค้าว่า DURABIO
9. PA
พอลิเอไมด์ (Polyamide) หรือ PA แต่ชื่อที่เรารู้จักกันน่าเป็นไนลอน (Nylon) คือ พอลิเมอร์ที่มีกลุ่มเอไมด์ (R-CO-NH-R) เป็นส่วนสำคัญของพอลิเมอร์สายโซ่หลัก และเกิดจากการกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชัน (polymerization) ของเอไมด์ (amide, CHONH) และกรดอินทรีย์ มีการเพิ่มสารแต่งเติม (filler & additives) ประเภทกราไฟต์และโมลิบเดนั่มไดซัลไฟต์ (graphite & molibdenum disulphite) ทำให้เพิ่มสมบัติให้ดียิ่งขึ้น เป็นพลาสติก Bio-Based อีกชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้
10. TPS
เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (Thermoplastic starch) หรือ TPS คือ กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่มาจากพืชและสัตว์โดยตรง ถือว่าเป็นพลาสติกชีวฐาน (bio-based plastics) ที่มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น พืชและสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหมุนเวียนหรือสามารถหาใหม่ทดแทนได้ สามารถขึ้นรูปด้วยเทคนิคการขึ้นรูปตามที่นิยมใช้กับพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้เช่นกัน
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และถั่วต่างๆ และเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต TPS ซึ่งโดยปกติแป้งไม่สามารถขึ้นรูปได้โดยกระบวนการทางความร้อนเหมือนกับพลาสติกทั่วไปได้ เนื่องจากอุณหภูมิหลอมเหลวของเม็ดแป้ง (Tm ~ 220 – 240 °C) สูงกว่าอุณหภูมิสลายตัว (Td ~ 220 °C) ส่งผลให้เม็ดสตาร์ชสลายตัวก่อนที่จะหลอมเหลว ดังนั้นการพัฒนาแป้งเป็นเทอร์โมพลาสติกหรือให้สามารถขึ้นรูปได้โดยกระบวนการทางความร้อนสามารถทำได้โดยการผสมแป้งที่อยู่ในรูปฟลาวร์หรือสตาร์ชกับพลาสติไซเซอร์ เช่น น้ำ ซอร์บิทอล กลีเซอรอล เอทิลีนไกลคอล เป็นต้น ในสภาวะที่มีการให้ความร้อน ความดัน และแรงเฉือน เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างกึ่งผลึกของแป้งให้เป็นโครงสร้างอสัณฐาน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า เทอร์โมพลาสติกฟลาวร์ (thermoplastic flour, TPF) หรือ เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (thermoplastic starch , TPS) ซึ่งสามารถขึ้นรูปได้โดยกระบวนการเดียวกันกับพลาสติกทั่วไป
11. PP
พอลิพรอพิลีน (Polypropylene) ใช้ตัวย่อว่า PP จัดเป็นพอลิเมอร์ประเภทเทอร์โมพลาสติกที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และยังมีการใช้ในงานอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ ขวด สติกเกอร์ ธนบัตรพอลิเมอร์ เป็นต้น
Bio-PP เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร มีความทนทาน และยืดหยุ่น พลาสติกชนิดนี้ผลิตจากวัตถุดิบจากพืช แต่มีคุณสมบัติเหมือนกับพลาสติกธรรมดาทั่วไป (conventional plastics) ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงนิยมนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง เช่น ทำเป็นหลอดดูดพลาสติก กล่องบรรจุอาหารแช่แข็ง เครื่องมือแพทย์ ขวดบรรจุสารเคมี อะไหล่รถยนต์ ปกแฟ้มเอกสาร ถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่ทนความร้อน ตลับเครื่องสำอางค์ ถุงปุ๋ย เป็นต้น
12. PU
พอลียูรีเทน (Polyurethane) หรือที่นิยมใช้ในตัวย่อว่า PU วัตถุดิบที่ใช้เป็นมอนอเมอร์ในการผลิต Bio-PU หาได้จากวัสดุที่สามารถผลิตทดแทนได้ อย่างเช่น พืชและจุลินทรีย์ โดยคุณสมบัติของ Bio-PU ทั้งทางกายภาพและทางเคมีแตกต่างกันขึ้นกับมอนอเมอร์และสภาวะในการทำปฏิกิริยา โดยส่วนใหญ่สมบัติของ Bio-PU จะขึ้นกับการนำไปใช้งาน และไม่สามารถช่วยให้ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น
13. PE
พอลิเอทิลีน (polyethylene) หรือ PE คือพลาสติกกลุ่มพิลิเอทีลีนจากเอทานอลที่ผลิตมาจากอ้อย จึงเป็นพลาสติกชนิด Bio-Based หรือ Bio-PE มี
14. PBAT
พอลิบิวทิลีนอะดิเปต โค เทเรฟทาเรท (polybutylene adipate co terephthalate) หรือ PBAT เป็นพลาสติกชีวภาพที่ได้จากผลิตภัณฑ์จากแหล่งปิโตรเคมี โดย Bio-PBAT มาจากการสังเคราะห์โดยปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชันของมอนอเมอร์ฐานปิโตรเลียม เป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ ในทางการตลาดทั่วไป PBAT เป็นพลาสติกทางเลือกหนึ่งที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่สามารถทดแทนการใช้พลาสติก โดยพลาสติกชนิดนี้มีคุณสมบัติความยืดหยุ่นและการคืนรูป จึงถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตที่เหมือนกัน เช่น ถุงพลาสติก และพลาสติกที่ใช้ในการห่อหุ้ม เป็นต้น

(http://www.pbat.info/en.html)
Bio-Based Plastic ย่อยสลายเองได้หรือไม่
พลาสติกที่สลายตัวได้เป็นพลาสติกประเภทหนึ่งของ “พลาสติกชีวภาพ” ที่ผลิตจากแหล่งวัตถุดิบชีวภาพหรือมาจากธรรมชาติ (bio-based plastics) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ และชนิดที่ไม่สลายตัวทางชีวภาพ ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วพลาสติกที่มีส่วนประกอบจากวัตถุดิบธรรมชาติไม่ได้แปลว่าจะสลายตัวได้เสมอไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นพลาสติกใดๆ ที่เพียงแค่ทำมาจาก bio-based เท่านั้น แต่อาจสลายตัวได้หรือไม่ก็ได้
ปัจจุบันพลาสติกที่สลายตัวได้มี 12 ชนิด คือ PHA, PHB, PLA, PCL, PBS, PBSA, PEC, PES, PBT, PTT, PVAL และพอลิเมอร์ธรรมชาติ

(http://en.european-bioplastics.org)
Bio Filaments for 3D Printing
วัสดุแบบเส้น หรือ Filament ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer จะมีพลาสติกหลายชนิดด้วยกัน คงพอทราบกันมาบ้างแล้วว่าเส้นวัสดุนี้ สามารถใช้วัตถุดิบที่มาจาก Bio-Based มาผสมด้วยสัดส่วนต่างๆ และผ่านกระบวนการขึ้นรูปมาเป็นเส้น Filament สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการใช้ PLA ผสมกับวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติได้เพิ่มอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกากกาแฟ เยื่อจากต้นสมุนไพร ถือว่าเป็น Bio-Plastic ที่ไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับพลาสติกแบบเดิม ทั้งยังเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน จึงเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค รวมถึงยังพัฒนาไปสู่การใช้งานด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนด้านการเกษตร

ในปัจจุบันและเทรนด์ในอนาคต พลาสติกย่อยสลายได้มีแนวโน้มทางการตลาดที่ดีขึ้น และถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเช่นกัน ขณะที่ประเทศชั้นนำต่างๆ ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในตลาดไบโอพลาสติก อย่างเริ่มมองหาแหล่งวัตถุดิบ คิดค้นวิจัยเพื่อทำโรงงานต้นแบบที่จะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นประเทศเกษตรกรรมแนวหน้า หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชน จะสร้างรายได้ และทำให้พืชทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น