ที่มาของ Bambu Lab 3D Printer
ผู้ก่อตั้ง Bambu Lab (2020) คือ Dr. Ye Tao ซึ่งมีประสบการณ์เป็นผู้บริหารระดับสูงของ DJI ที่ผลิตโดรนซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกมาก่อน โดยได้รวบรวมทีมวิศวกรหลากหลายสาขา และคนที่สนใจในเทคโนโลยี 3D Printing มาพัฒนาเครื่องร่วมกัน (ทีมหลักเริ่มต้นมาจากวิศวกรของ DJI) กลายเป็นเครื่องที่ทันสมัย ล้ำหน้ากว่าเครื่องในปัจจุบันไปมาก โดยเฉพาะอย่างเมื่อเปรียบเทียบกับตลาด Desktop ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เซ็นเซอร์ AI ซอฟแวร์ การจูนเครื่อง การใช้งานแบบ Plug&Play เรียกว่าผู้ใช้ไม่ต้องไปเสาะหาเทคนิคการพิมพ์ หรือการแก้ไขปัญหาใดๆเลย
1. ยุคใหม่ของ Maker จากความสำเร็จของ Voron และ Klipper
- ในยุค 2020-2022 เรียกว่าเป็นช่วงที่เทคโนโลยี Resin 3D Printer เข้ามามีบทบาทในกลุ่มผู้ใช้ในตลาด Consumer มาก จนทำให้เทคโนโลยีแบบ FDM ดูไม่ค่อยมีอะไรใหม่
- สำหรับในกลุ่มผู้ผลิตเมนบอร์ดควบคุมต่างๆ ก็เริ่มอัพเดดน้อยลงตั้งแต่ Marlin, Duet, MKS แต่ที่โดดเด่นขึ้นมากลับเป็น Firmware เสริมที่มีต่อยอดมาจาก Octoprint นั่นคือ Klipper Firmware ซึ่งทำให้การควบคุมเครื่อง 3D Printer ทำได้ดีกว่าบอร์ดเดิมๆ โดยเฉพาะเรื่องความเร็วในการพิมพ์ซึ่งตั้งค่ากันไปมากถึง 150-300 mm/min จากปกติ 50-80 mm/min ลงได้ตั้งแต่ธรรมดาอย่าง Ender 3 ที่ใช้กันทั่วบ้าน ทั่วเมือง จนไปถึง Voron ที่สาย Maker ชอบกัน

- จากความเร็วในการปริ้นที่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นกับโครงสร้าง ซึ่งทาง Bambu Lab ก็ใช้วิธีการชดเชยการสั่นสะเทือนที่เรียกว่า “Active Vibration Compensation “
- ในส่วนของบริเวณส่วนโค้ง และส่วน Overhang ที่เป็นปัญหาของเครื่องพิมพ์แบบ FDM มาตลอด ก็ได้เขียนโปรแกรมทางเดินของหัวฉีดใหม่ พร้อมระบบระบายความร้อนให้สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องลดความเร็ว และยังได้ผิวที่เรียบกว่าเดิมอีกด้วย ผลการทดสอบอ่านได้ที่ “High Speed Print at Quality“
- ส่วนของ Voron จริงๆ กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมานานพอสมควร เน้นไปที่ระบบการเคลื่อนที่แบบ Core-XY ตั้งแต่แรก เพื่อให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง ทนทาน มาตรฐานอุตสาหกรรม
- แต่ในช่วงแรกสาย Maker จะนิยมเครื่องสไตล์ Prusa ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า Voron ซึ่งแค่ค่าอลูมิเนียมโปรไฟล์ บอร์ดควบคุม ก็หลักหมื่นขึ้นแล้ว ยังไม่รวมชิ้นส่วนที่ต้อง 3D Print ขึ้นมาเองอีก
- ทั้งนี้การพัฒนาของ Klipper ขึ้นต่อยอดจาก Octoprint ทำให้ Voron เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าจะประกอบสไตล์ Prusa I3 ไปซื้อเครื่องจีนง่ายและถูกกว่าประกอบเอง ในขณะที่ Voron ใช้ทักษะการประกอบที่มากกว่า รวมถึงเวลาที่บางคนอาจจะต้องประกอบหลายวันเลยทีเดียว ไม่รวมจูนเครื่องให้พร้อมใช้งาน ซึ่งถูกใจสาย Maker มาก
2. การเปิดตัวและส่งมอบในลอตแรก
- Bambu Lab 3D Printer เปิดตัวในและระดมทุนสำเร็จใน Kickstarter ช่วงมิถุนายน โดยมีแผนการส่งมอบลอตแรกในช่วง กรกฎาคม ซึ่งหลายๆคน ในตอนแรกคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเครื่องใน Kickstarters ที่ล้วนมีปัญหาการส่งมอบ เมื่อระดมทุนได้สำเร็จ ซึ่ง Bambu Lab แตกต่างออกไป โดยส่งมอบได้สำเร็จไม่มีปัญหาใดๆ โดยระบุว่าในวันที่ 23 สิงหาคม สามารถส่งมอบเครื่องจากแคมเปญ Kickstarter ได้สำเร็จ 5600 เครื่อง (ที่มา) และรายงานว่าปิดแคมเปญได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคม

- หลังจากรุ่น X1 ขายดีและส่งมอบสำเร็จ พร้อมเปิดจำหน่ายทั่วไป Bambu Lab ก็ไม่รอช้าเปิดรุ่นใหม่ทันที เน้นไปที่ตลาดเริ่มต้นใกล้เคียงกับแบรนด์อย่าง Prusa ด้วยรุ่น P1P ในเดือน พฤศจิกายน ด้วยสเปคที่ลดทอนจากรุ่นพี่มาเล็กน้อย แต่ยังคงพื้นที่พิมพ์เท่ากันไว้
- รุ่น P1P ก็ไม่ได้ส่งมอบช้า มีหลายคนได้เครื่องตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ (อาจจะเป็นในส่วนของ Influencer) ส่วนในไทย ต้นเดือนมกราคม 2023 ก็เริ่มนำเข้ามาให้เห็นกันบ้างแล้ว

3. เทคโนโลยีที่ทันสมัย และพัฒนามาอย่างดี
รองรับ Multi Materials การพิมพ์หลายวัสดุ โดยทาง Bambu Lab มีชุด AMS (Automative Materials System) ซึ่งรองรับเส้นวัสดุถึง 4 ชนิดในการปริ้นครั้งเดียว ที่สำคัญคือมีการตั้งค่ามาเป็นอย่างดี หากใครเคยใช้ระบบนี้ของหลายๆแบรนด์ซึ่งผู้เขียนเคยใช้มา จะพบว่าของแบมบูสะดวกและง่ายที่สุด
หลายคนที่อ่านมาถึงจุดนี้อาจจะไม่ทราบ การปริ้นชิ้นงานหลายสีนั้น แต่ละสีต้องสร้างไฟล์ 3D Model มาเฉพาะส่วนไหน และตั้งตำแหน่งให้ตรงตามที่ต้องการใน Slicer ซึ่งเป็นเรื่องยากมากทีเดียว
Auto Bed Calibration ที่เหมือนกับหลายยี่ห้อที่มีในปัจจุบัน แต่ทาง Bambu Lab พัฒนาต่อยอดให้ดีกว่าเดิม โดยใช้ทั้งการวัดหลายๆแบบ ทั้งระบบ Contact, เซ็นเซอร์วัดระยะห่าง ประยุกต์รวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้แม่นยำมากที่สุด

Perfect First Layer เจ้า Lidar Sensor ที่นอกจากวัดระยะห่างจากฐานแล้ว ยังช่วยตรวจสอบการพิมพ์ชั้นแรกอีกด้วย ว่าชิดฐานหรือห่างเกินไปแล้ว แจ้งเตือนผู้ใช้ รวมกับกล้องที่ติดตามการพิมพ์มีฟีเจอร์ Spaghetti detection ถ้าเจองานเสียหลุดจากฐาน ก็แจ้งผู้ใช้เช่นเดียวกัน


4.รองรับวัสดุตั้งแต่คนทั่วไป จนไปถึงคอมโพสิตในอุตสาหกรรม
- การปริ้นวัสดุคอมโพสิตโดยเฉพาะ ไนลอนผสมเส้นใยคาร์บอน (PA-CF) เป็น 1 ใน 5 เป้าหมายแรกสุดของผู้พัฒนา Bambu Lab ที่ต้องทำให้ดี ดังนั้นจึงพัฒนาตัวเครื่องเพื่อรองรับวัสดุนี้มาตั้งแต่แรก โดยจะเห็นได้ว่าเปิดตัวรุ่น X1 Carbon ตั้งแต่เริ่มต้นพร้อมหัวการพิมพ์คอมโพสิตโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากตัวไนลอน (PA) แล้ว ยังรองรับวัสดุวิศวกรรมอื่นๆอีกเช่น PC (Polycarbonate) และ TPU 95A เรียกว่าเพียงพอกับการใช้งานเครื่อง FDM ในปัจจุบัน
- สำหรับวัสดุพื้นฐานก็มาครบครัน ทั้ง PLA ABS และ วัสดุ Support ต่างๆ
- ทั้งนี้ตัวเครื่องไม่ได้ล๊อกยี่ห้อวัสดุ สามารถใช้ของเจ้าไหนก็ได้ ทำให้สะดวกกับผู้ใช้ทั่วไป แต่ทั้งนี้เส้นแต่ละยี่ห้อก็มีการตั้งค่าต่างกันออกไป ควรทดลองการตั้งค่าให้เหมาะสมก่อนการปริ้นงานที่ใช้เวลาเยอะ


5. กลุ่มผู้ใช้งาน Bambu Lab 3D Printer ที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
- ถึงจะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่กลุ่มผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ใช้งานเทคโนโลยีนี้มาแล้วระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงสามารถช่วยเหลือกันได้เป็นอย่างดี
- สำหรับมือใหม่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าใช้งานยาก เพราะ Bambu Lab เป็น 1 ในยี่ห้อที่ใช้งานง่ายสุดในปัจจุบัน ด้วยตัวเครื่องที่เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ผู้ใช้เรียนรู้ในส่วนของ Slicer เป็นหลัก
- ในรุ่น P1P ที่มีราคาการแข่งขันสูง น่าจะเพิ่มยอดผู้ใช้งานให้มากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ดูจากยอดจองตอนนี้ หลายคนอาจต้องรอของ 3-4 เดือนเลยทีเดียว ณ วันที่เขียนบทความ
ส่วนที่ Bambu Lab ยังขาดอยู่
- สำหรับตลาดผู้บริโภคทั่วไป สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติม น่าจะเป็นในส่วนของเครื่องที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น อยู่ในช่วง 30-40 cm ซึ่งเป็นช่วงที่หลายแบรนด์มีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ต้องรอดูในอนาคตว่าจะมีรุ่นใหม่ออกมา และตั้งราคาไว้ที่เท่าไหร่
- ในระดับอุตสาหกรรม ต้องยอมรับว่าแบรนด์ที่ทำตลาดด้านนี้มี Install Base ที่สูงมาก อาจจะต้องใช้เวลาให้ทาง Bambu Lab พิสูจน์ตัวเองในระยะยาว ด้านความทนทาน และการบริหารหลังการขาย
- การจัดการอะไหล่ที่เสื่อมตามการใช้งาน ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องปกติ สำหรับเครื่องที่มีความเร็วในการพิมพ์สูงอยู่แล้ว ที่ชิ้นส่วนจะสึกหรอจากการใช้งานมากกว่าปกติ ซึ่งในเวบในวันที่เขียนบทความยังไม่มีข้อมูลมากนัก พบแต่อะไหล่สิ้นเปลือง
สนใจสั่งซื้อ Bambu Lab 3D Printer

