Phrozen Sonic ต่างกับเครื่องอื่นตรงไหน ?
Sonic เป็นไลน์ผลิตภัณฑ์ของ Phrozen ในกลุ่ม Professional เน้นไปที่การใช้งานเฉพาะทาง ประกอบไปด้วย Shuffle 4K สำหรับงานจิวเวรี่ Transform สำหรับงานต้นแบบขนาดใหญ่พิเศษ และ Sonic ที่เน้นอัตราการผลิตเร็วที่สุด ให้เห็นภาพง่ายๆ สมมุติโดยปริ้นชิ้นงานสูง 5 cm ความละเอียด 50 ไมครอน
- Shuffle 4K ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง
- Transform 3-4 ชั่วโมง
- Sonic ใช้เวลา 1 ชั่วโมง
ทำไมถึงพิมพ์ได้เร็วขนาดนั้น ?
โดยปกติแล้วเครื่อง 3D Printer ชนิดใช้จอ LCD จะประยุกต์เอาหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ หรือหน้าจอแสดงผลทั่วไป ซึ่งเป็นภาพสีมาใช้งาน ดังนั้นสิ่งที่เครื่อง SLA 3D Printer ต้องการคือภาพฉาย แต่ตัวจอมีทั้งภาพสี ระบบกรองแสงยูวี ฟิลเตอร์ต่างๆ ดังนั้นประสิทธิภาพการส่งผ่านจากแหล่งกำเนิดแสง (UV Light Source) ไปยังเรซินจะจนต่ำมาก และไม่สามารถเพิ่มได้มากตามที่ต้องการ เพราะจะเกิดความร้อนสะสมที่เกิดจากการพิมพ์เป็นเวลานาน ทำให้อายุการใช้งานและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สั้นไปอีก ดังนั้นทาง Phrozen จึงได้จับเอาจอ monochrome ที่จะแสดงภาพขาว ดำ เทา เท่านั้น มาใช้งานแทน ดังนั้นจะตัดปัญหาดังกล่าวไปได้พอสมควร รวมทั้ง Contrast ของภาพที่ได้จะสูงกว่า ดังนั้นจากสเปคจะเห็นได้ว่าใช้กำลังไฟเท่ากันคือ 60W แต่เวลาฉายแสงต่างกันหลายเท่าตัว ผลที่ได้อีกเรื่องคือความร้อนที่เกิดขึ้นในเครื่องน้อยลงมาก ซึ่งบทความนี้ไม่ได้ติดเซ็นเซอร์วัดเลยไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเท่าไหร่ แต่ทางผู้ผลิตระบุเรื่องอายุการใช้งานอยู่ที่ 2,000 ชั่วโมง จากปกติ 400-500 ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่ได้มีการรับประกันจอเช่นเดิม

รูปร่าง โครงสร้าง และสเปคของ Phrozen Sonic
ตัว Phrozen Sonic มีหน้าตา โครงสร้าง ระบบ ขั้นตอนการทำงานทุกอย่างเหมือน Shuffle 4K ทุกประการ สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ (รีวิว Prozen Shuffle 4K) ส่วนที่ต่างคือระบบแหล่งกำเนิดแสงใช้ชื่อว่า Paraled 3.0 จากเดิมที่ทุกรุ่นปัจจุบันเป็น 2.0 ซึ่ง เท่าที่ดูไม่ได้แตกต่างเรื่องตัวเลขหรือโครงสร้าง นอกจากนี้ดูจากแผนงานแล้ว มีตัว Sonic ตัวเดียวที่จะใช้ 3.0 สาเหตุน่าจะมาจากปรับให้เข้ากับตัวจอ monochrome มากกว่า ไม่น่าเกี่ยวกับคุณภาพที่ 3.0 จะดีกว่า 2.0
- จอ LCD 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1920×1080
- ParaLED 3.0
- การบริโภคพลังงาน 60W
- ระแบบแกน Z Linear Rail และ Lead Screw
- หน้าจอสัมผัส IPS 5 นิ้ว
- พัดลมระบายความร้อน 2 ตัว ขนาด 8 cm ใหญ่กว่าทั่วๆไป
- ความเร็วในการพิมพ์ 60 mm/hr
- สนับสนุนพิมพ์ผ่าน Wifi Ethernet Usb
- โปรแกรม PZ Slicer Pro (ยังไม่เปิดตัว) Chitubox Formware
- ขนาดเครื่อง 28x28x37 cm
- น้ำหนัก 13.5 kg




มีส่วนหนึ่งที่เห็นการปรับปรุงคือถาดใส่เรซิน (VAT) เป็นสีดำ จากปกติสีเงินอลูมิเนียม มีการเจาะช่องให้เรซินไหลออกได้ง่ายขึ้นตอนเทแล้ว ซึ่งเครื่องส่วนใหญ่ก็ใส่มาเป็นมาตรฐานแล้ว แต่ตัว 4K ยังไม่มีนะครับ

แกะกล่องใช้งานจริงกับ Phrozen Sonic
สิ่งที่หลายคนกังวัลน่าจะเป็นเรื่องความละเอียดที่ใช้จอ Full HD ทำให้มีความละเอียดอยู่ที่ 62.5 ไมครอน ว่างานจะออกมาแตกต่างจากพวกจอ 2K 4K ขนาดไหน ดังนั้นรีวิวนี้เน้นไปที่การใช้งานจริง เปรียบเทียบเรื่องเวลาในการพิมพ์ คุณภาพ และสรุปว่าเครื่องนี้เหมาะกับใครเป็นหลัก บทความนี้ใช้โมเดลทดสอบยอดนิยมของ Prusa ดาว์นโหลดได้ในลิ้งนี้ (Prusa) เปรียบเทียบระหว่าง Phrozen Shuffle 4K และ Sonic

การตั้งค่าในโปรแกรม Chitubox ทดสอบโดยใช้ความละเอียดมาตรฐาน 50 ไมครอน มีสถิติเชิงตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
- เวลารวมทั้งหมด Sonic เร็วกว่า 220%
- เวลาฉายแสงจริง 4K อยู่ที่ 6188 วินาที Sonic อยู่ที่ 1183 วินาที หรือคิดเป็น 20%
- เวลาช่วงไม่ได้ฉายแสงเช่น ยกถาดขึ้น-ลง เวลาหน่วงฉายแสง อยู่ที่ประมาณ 2,900 วินาที ทั้งสองเครื่องใกล้เคียงกัน
- สัดส่วนเวลาฉายแสงต่อเวลารวมทั้งหมด 4K อยู่ที่ 68% ขณะที่ Sonic อยู่ที่ 28% เปอร์เซ็น ส่วนที่เหลือคือเวลาสูญเปล่า (Waste)
- ดังนั้นคอขวดของ Phrozen Sonic อยู่ที่ความเร็วในการยกขึ้น-ลง ของถาดพิมพ์ หากแก้ไขตรงนี้ได้สามารถเพิ่มความเร็วรวมทั้งหมดได้เกือบ 3-400% จากเดิม อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูข้อมูล ทั้งโครงสร้าง บอร์ดควบคุม ระบบ FEP Film มาถึงจุดสุดๆของระบบนี้แล้ว ถ้าจะเร็วกว่านี้ อาจต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นหลายเท่า (ดูตัวอย่างระบบของ Form 3)
หลังจากตั้งค่าเรียบร้อยสั่งพิมพ์หน้าเครื่อง โดยผ่าน Flashdrive เวลาที่ใช้ในการพิมพ์จริงจะนานกว่าที่โปรแกรมคำนวนมากเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้จับเวลาไว้ และ Phrozen OS ก็ย้อนกลับมาที่เมนูหลักเลย หากพิมพ์เสร็จ (ส่วนนี้น่ามีหน้าจอแสดงผลหลังพิมพ์เสร็จว่าใช้เวลาเท่าใด)


ความเร็วในการพิมพ์จริงลองดูจากคลิบใน Youtube ได้เลยครับ (ไม่ใช่งานตัว Prusa ที่ทดสอบ) โดยประมาณ 1 ชั่วโมงจะได้ไม่ต่ำกว่า 600 layer ที่ความละเอียด 50 ไมครอน
งานที่พิมพ์เสร็จผู้เขียนยังสงสัยว่าไปหมุนกลับหัวตอนไหน ภาพที่ล้าง IPA แล้ว ด้านหน้าจากเครื่อง 4K ด้านหลังมาจาก Sonic


เปรียบเทียบคุณภาพการพิมพ์
สำหรับเครื่อง SLA 3D Printer นั้น คุณภาพของผิวที่ออกมาจะสวยงาม และเรียบอยู่แล้ว ต่อให้เป็นเครื่องในระดับ Full HD ก็ยังให้ผิวที่ดีกว่าเครื่องแบบ FDM มาก ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า 4K ให้งานที่ออกมาดีกว่าในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกๆคน หรืองานทั่วๆไป เหมาะกับจิวเวรี ที่มีรายละเอียดเล็ก หรืองานพระเครื่อง ซึ่งต้องใช้กล้องส่องกันเพื่อดูรายละเอียด สำหรับคนทั่วไป ที่ปริ้นเสร็จมาลงรองพื้นความต่างที่ว่ามาก็หายไปหมดแล้ว ลองดูผลแล้วพิจารณากันดู








แบบจำลอง 3D Model กลุ่มจิวเวรี ความละเอียดกลางๆ






สำหรับงานใหญ่ๆ และกลัวพิมพ์เสีย สามารถเพิ่มเวลาฉายแสงเป็น 1.5 วินาที เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ลดโอกาส Support หลุด หรือขาดขณะพิมพ์ได้ แต่เวลาในการพิมพ์ก็เพิ่มมาระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเร็วกว่าเครื่องทั่วๆไปพอสมควร
ลอตนี้ได้เรซิน Phrozen Clear ติดมือมาทดสอบด้วย ซึ่งจะให้ชิ้นงานที่”ใสขาว” เหมือนงานจากเครื่อง SLA ที่ใช้เลเซอร์ ไม่เหลืองเหมือนเรซิน Clear ของ LCD 3D Printer แต่ข้อเสียอย่างแรงคือใช้เวลาในการพิมพ์นานมาก ชั้นละ 18-20 วินาที เนื่องจากไม่มีสารรับพลังงานยูวี ซึ่งสารตัวนี้ทำให้เรซินมีสีออกเหลืองเมื่อโดนยูวี เรซินพอมาใช้กับ Sonic ใช้เวลา 3.5 วินาที/ชั้น ก็พิมพ์มาให้เห็นดังภาพ ชิ้นงานทั้ง 2 ผ่านการอบ UV และตากแดดมาแล้ว สังเกตได้ชัดว่าตัว Clear แท้ๆ สีขาวใสสวยกว่าเยอะ เหมาะกับการปริ้นขวด บรรจุภัณฑ์ ที่ต้องการความใสได้เลย หากมีเวลาขัดกระดาษทรายและลงแลกเกอร์น่าจะใสจนแสงส่องผ่านได้เกิน 90%

สำหรับข้อดีอีกอย่างของ Sonic คือโดยปกติเครื่องแบบ LCD 3d Printer จะไม่รองรับเรซินของเครื่อง DLP 3D Printer เนื่องจากกำลังไฟไม่พอ ต้องใช้เวลาพิมพ์นานจนไม่คุ้มค่า และยังทำให้จอพังเร็ว แต่ในกรณีของ Sonic สามารถใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่เท่ากับเครื่อง DLP แท้ๆ ดังนั้นใครที่สนใจจะเอาไปใช้งานกับเรซินแวกซ์เช่น B9 Miicraft Solus ก็สามารถใช้ได้ แต่ความละเอียดอาจจะไม่เหมาะสมกับงานจิวเวรี่ที่ความละเอียดสูง


ส่วนใครที่เอาไปทำงาน Production จะคุ้มค่าสุด เพราะความเร็วในระดับนี้มีแต่เครื่อง DLP 3D Printer ในราคาหลักแสน ที่พิมพ์เร็วได้ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ Sonic ค่าตัวถูกกว่ากันเกินครึ่ง หรือหลายเท่าหากเปรียบเทียบกับแบรนด์ยุโรป

งานรายละเอียดเล็กเอามาให้ดูกันอีกทีจากโมเดลทดสอบของทาง Amerlabs คมชัดแน่นอน
สรุป
เป็นอีก 1 เครื่องคุณภาพจากไต้หวันที่ใช้ชิ้นส่วนดี งานประกอบคุณภาพ มีระบบปฏิบัติการของเครื่องและซอฟแวร์ของตัวเอง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการอัตราการผลิตสูงๆ ไม่ได้มีรายละเอียดมาก เช่น ฟิกเกอร์ ทอย สเกลโมเดล ที่ต้องมาทำสีต่อ อีกกลุ่มหนึ่งคืองานทันตกรรม ที่ Phrozen Sonic น่าจะตอบโจทย์ได้ดีมาก ภาพรวมความเร็วใกล้เคียงกับ Nexdent 5100 ที่แพงกว่าเป็นสิบเท่า ซึ่งขนาดของชิ้นงานที่ได้ก็แม่นยำ ยอมรับได้ สำหรับกลุ่มจิวเวรีตัวนี้ไม่แนะนำสำหรับงานที่มีรายละเอียดสูง เหมาะกับงานเรียบๆ ง่ายๆ หรือคนที่ต้องการใช้เรซินกลุ่ม DLP เช่น B9 Solus Envisiontec สามารถใช้กับเครื่องนี้ได้
เรื่องความละเอียดการที่เป็นจอ Full HD หรือ 1K ที่ให้พิกเซล 62.5 ไมครอน นั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้งานจริง แถมยังมีอายุการใช้งานสูงกว่าจอทั่วๆไป ที่ใช้กันถึง 5 เท่า ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปมองระยะยาว ดูน่าจะคุ้มค่าซ่อมบำรุงระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องดูการใช้งานจริงไปซักพัก เพราะเครื่องพึ่งออกมา
- สนใจสั่งซื้อหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม (คลิ๊ก)
- ดาวน์โหลดรูปเพิ่มเติม (Google Drive)


