หัวข้อหลัก
เรซินของ LCD 3D Printer ต่างกับเครื่องอื่นอย่างไร ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรซินสำหรับเครื่อง 3D Printer นั้นแตกต่างจากเรซินหล่องานที่มีขายตามท้องตลาด ไม่สามารถนำไปใช้ด้วยกันได้ ด้วยสูตรเคมีและกลไกการที่เรซินจะแข็งตัวที่คนละสูตรเลย (เรซินหล่อแข็งได้เอง ส่วนเรซินเครื่องปริ้นต้องการแสง UV)
นอกจากเรซินในกลุ่มนั้นแล้วในเครื่องพิมพ์ 3 มิติเองก็แบ่งเรซินเป็นอีก 3 กลุ่มย่อยๆ
- เรซินสำหรับเครื่อง SLA ที่ใช้เลเซอร์ในการฉายแสง เช่น Formlabs Moai ไม่สามารถบอกเวลาฉาย/ชั้นได้ จะบอกเป็นความเร็วของตัวเลเซอร์แทน
- เรซินสำหรับเครื่อง DLP ที่ใช้โปรเจคเตอร์ฉายแสง เช่น Hunter Nextdent Moonray อื่นๆอีกมากมายในกลุ่มนี้ เป็นเครื่องที่มีกำลังไฟสูงใช้เวลาฉายแสง 1-2 วินาทีเท่านั้น/ชั้น
- เรซินสำหรับเครื่อง LCD กลุ่มนี้มาทีหลัง เนื่องจากแสงจากเครื่องพิมพ์กลุ่มนี้ต่ำกว่า 2 กลุ่มด้านบน ซึ่งหากเพิ่มกำลังไฟเข้าไป (จำนวนวัตต์) ก็จะเจอปัญหาเครื่องร้อน จออายุการใช้งานสั้นลงไปอีก ปกติจะมีกำลังไฟอยู่ 30-60 วัตต์ ซึ่งหากเจอเครื่องไหน เกินนี้ควรระวังเพราะจอจะอายุการใช้งานสั้นมาก ดังนั้นผู้ผลิตก็เลยไปพัฒนาเรซินให้รับพลังงานได้มากกว่าปกติ เลยพิมพ์ได้ที่ 6-12 วินาที/ชั้น
บทความนี้เน้นไปที่เรซินสำหรับ LCD 3D Printer ซึ่งปัจจุบันน่าจะมีคนใช้งานมากที่สุด มีตั้งแต่ราคาไม่ถึงหมื่นจนไปถึงหลักแสนบาท โดยหากเป็นเรซินสำหรับวิศวกรรมจะมีข้อมูลตัวเลข การทดสอบมาให้ด้วยเพื่อเปรียบเทียบความแข็งแรง หรือการใช้งานแต่ละแบบ
เรซินสำหรับงานต้นแบบ
เรซินกลุ่มนี้มีการใช้งานมากที่สุด ถ้าเป็นเครื่องแบบ FDM ก็คือเส้น PLA สมบัติหลักคือ
- ปริ้นง่าย เร็ว ใช้ Support ขนาดเล็กได้
- ชิ้นงานที่ได้หลังพิมพ์มีลักษณะแข็งแต่เปราะ ไม่เหมาะกับนำไปเจาะทำเกลียว หรือรับแรง เช่นงาน Snap-Fit Jig Fixture
- ให้รายละเอียดพื้นผิวชิ้นงานคมชัด
- มักใช้สี เทา เนื้อ ส้ม เพื่อให้เห้นรายละเอียดงานมากที่สุด
- ลงสีได้ง่าย สามารถใช้กับสีรองพื้นทั่วๆไปได้ทั้งหมด
- การหดตัวสูง 1-2% โดยปริมาตร+
- แบรนด์จีนเกือบทั้งหมด มีสูตรเดียวกัน แตกต่างเล็กน้อยตรงสี และสารเติมแต่ง
- มีจำหน่ายหลากหลายสูตรการค้า ส่วนที่ต่างคือเรซินอาจจะเหนียวขึ้น เช่น เรซินปกติ กับ ABS like เรซินที่จะเหนียวขึ้นเล็กน้อย


ประเภทของเรซินกลุ่มนี้ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน
- ABS like resin เช่น Elegoo Phrozen
- Tough Resin (HD Resin ที่ทางเราจำหน่าย)
- Plant Base, Eco Resin ที่โฆษณาว่าทำจากถั่วเหลือง หรือวัสดุจากธรรมชาติอื่นๆ
- Water Washable Resin ที่ล้างน้ำเปล่าได้ ซึ่งก็ไม่ควรล้างในซิ้งล้างจานนะครับ
- Rapid Resin จาก Monocure
เรซินสำหรับงานวิศวกรรม
เรซินกลุ่มนี้ในอดีตหาซื้อยากมากเมื่อ ช่วงเครื่องเรซินมาใหม่ๆช่วงปี 2017 ในปัจจุบัน (2020) มีออกมาหลายยี่ห้อ มีคุณสมบัติที่หลากหลายมากขึ้น การเลือกใช้ต้องพิจารณาถึง ค่าเหล่านี้ (อ่านเพิ่มเติม “การวัดความแข็งแรงของชิ้นงานที่ผลิตจากเครื่อง 3D Printer“)
- Tensile Strength/Elongation เป็นค่าต้านทานแรงดึง และระยะยืดตัว พวกเรซินต้นแบบจะมีค่านี้สูง แต่ยืดดึงได้น้อยก็เสียหาย ส่วนเรซินวิศวกรรมอาจจะใกล้เคียงหรือน้อยกว่า
- Bending strength/Flex strength เป็นค่าต้านทานการดัดงอ ซึ่งตรงกับโจทย์การนำไปใช้งานจริง มากกว่าค่า Tensile
- Temperature resistance การต้านทานอุณหภูมิขณะใช้งาน
- ผลทดสอบจากภาพใช้เรซิน 5 ตัวคือ HD Resin, Siraya Blu, Phrozen Rock Black และ TR250LV สุดท้ายจากแคนนาดาคือ Liqcreate Strong X


ทั้งนี้ข้อมูลข้างต้น เป็นข้อมูลเชิงวิศวกรรม ไม่ได้บ่งบอกถึงการพิมพ์ยาก-ง่าย หรือพื้นผิวของชิ้นงานที่ออกมา เช่น Siraya Blu การทดสอบออกมาดูดีในราคาใกล้เคียงกับ Phrozen TR250LV แต่พื้นผิวตัวหลังดีกว่า และพิมพ์ง่ายกว่ามากในความเป็นจริง ยิ่งเป็น Liqcreate เรซินจะมีความหนืดสูงมาก ไม่สามารถพิมพ์เร็วได้ และให้รายละเอียดการพิมพ์ต่ำกว่าตัวอื่นๆ


ส่วนการทนต่อความร้อน เรซินในกลุ่มนี้ อยู่ในเกณฑ์การใช้ทั่วๆไป ไม่มีปัญหาเหมือนกับ PLA แน่นอน
- Siraya Blu 60C
- Phrozen Rock Black 97C
- Phrozen TR250LV 100C
- Liqcreate Strong X 128C
อย่างไรก็ตามหากเป็นเรซินในกลุ่มจิวเวรี เพื่อไปอัดแม่พิมพ์ยางจะทนได้สูงมากตั้งแต่ 180C-300C เลยทีเดียว เหนือกว่าเรซินในกลุ่มนี้ไปมาก ส่วนข้อเสียอ่ายหัวข้อถัดไปได้เลย
เรซินสำหรับงานหล่อจิวเวรี
กลุ่มสุดท้ายที่กล่าวถึง และมีการใช้สูงมากคือเรซินกลุ่มจิวเวรี หรือที่เรียกกันว่าเรซินแวกซ์ (Wax Resin) โดยมีการผสมแวกซ์เข้าไปตั้งแต่ 30-100% เพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ไม่เหลือเขม่าขณะหล่อ เรซินนี้ถ้าราคาถูกจากจีนจะเป็นเรซินใสๆ สีเขียว หรือเหลืองซึ่งมีปริมาณแวกซ์ค่อนข้างน้อยจะหล่อได้ยากกว่า แต่ถ้าหากชำนาญและรู้ค่าแล้วก็หล่อได้เหมือนกัน


ส่วนที่ทางเราจำหน่ายนำเข้ามาจากอิตาลีโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Bluecast ซึ่งมาจากตอนแรกๆที่เป็นเรซินสีฟ้าไม่เหมือนกันผู้ผลิตรายอื่นในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นรุ่น CR3A ซึ่งเป็นสีม่วง ซึ่งพอนำไปอบแล้วจะกลายเป็นสีน้ำเงิน เหมือนสมัยก่อน

อีกกลุ่มสำหรับเรซินจิวเวรีคือ เรซินทนร้อนสำหรับไปอัดแม่พิมพ์ยาง (Rubber Mold) กลุ่มนี้จะทนร้อนสูงมาก 200-300 องศาเซลเซียส และมีความแข็งสูงกว่าเรซินทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดการบิดงอ หรือเสียรูปขณะอัดพิมพ์ ปัจจุบันหลายที่เปลี่ยนมาใช้ยางซิลิโคนหล่อ (Silicone Mold) ซึ่งมีความร้อนขณะทำพิมพ์ต่ำกว่า เลยไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ แต่ต้นทุนด้านวัสดุทำพิมพ์ก็จะสูงขึ้น

เรซินชนิดอื่นๆ
กลุ่มนี้ไม่รู้จะจัดลงในกลุ่มไหน เนื่องจากมีสมบัติเฉพาะตัวมากกว่า ตัวแรกคือ Flexible Resin หรือ Nylon Resin กลุ่มนี้จะยิดตัวได้สูงมาก ตั้งแต่ 100-300% มากกว่าเรซินทั่วไปหลายสิบเท่า บีบงอไม่มีขาด บางครั้งก็มีการเรียกเรซินยาง จุดพิเศษอีกอย่างคือบางยี่ห้อสามารถผสมเข้ากับเรซินตัวอื่น เพื่อเพิ่มสมบัติก้านการยืดหยุ่นได้ โดยใช้เวลาการพิมพ์เหมือนเดิม
เรซินถัดมามีการเรียกว่า Super Clear หรือ Transparent Resin ที่ให้งานพิมพ์ออกมาขาว ใสเมื่อขัด ไม่ออกเหลืองเหมือนเรซินสี Clear ของเครื่อง LCD ทั่วไป เนื่องจากใส่สารเคมีที่รับพลังงานน้อย เพื่อป้องกันการเหลือง จึงต้องฉายแสงนานกว่าปกติ 2-3 เท่า เช่น ปกติ 7 วินาที/ชั้น ต้องใช้เป็น 20 วินาที/ชั้น เลยทีเดียว ส่วนสมบัติก็เหมือนเรซินต้นแบบทั่วไป

สุดท้ายคือเรซินชนิด Low Shrinkage ซึ่งใช้กับงานทันตกรรม ที่ต้องการความแม่นยำสูง 3D Model มีขนาดเท่าไหร่ หลังพิมพ์ก็ต้องออกมาเท่านั้น มีค่าการหดตัวอยู่ที่ 0.3-0.5% เท่านั้น สมบัติอื่นๆจะออกแนวแข็งพอสมควร เพื่อให้รับแรงอัดได้ดี ส่วนหากใครไม่อยากจ่ายแพง ก็คาริเบรตขนาดเอา เช่นปกติหดตัว2% ก็ขยายโมเดลเป็น 102% เพื่อชดเชยค่าดังกล่าว

เรซินของ DLP 3D Printer
ปัจจุบันเครื่อง Phrozen Sonic ที่มีการฉายแสงที่ดีกว่าจอ LCD 3D Printer ทั่วไปแล้ว สามารถใช้กับเรซินในตระกูล DLP อย่าง Nextdent Moonray B9 Solus ได้โดยไม่มีปัญหา แต่เวลาฉายแสงเร็วเท่าเครื่อง DLP แท้ไม่ได้ เช่น B9 Wax ใช้ชั้นละ 2-3 วินาที/ชั้น แต่พอใช้ Sonic จะกลายเป็น 6 วินาที/ชั้น แต่ก็มองในแง่ดีว่าคนที่ใช้เครื่อง DLP มาก่อนแล้วเครื่องเสีย ค่าซ่อมแพงกว่าซื้อเครื่อง Sonic ซะอีก ดังนั้นอาจจะลงทุนเพิ่มอีกเครื่อง เพื่อลดต้นทุนระยะยาวก็ได้
สนใจสั่งซื้อเรซินได้ที่ Resin Shop